วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ทรงผนวช



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเลื่อมใสและศรัทธาในพระพุทธศาสนา และพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ทุกศาสนาในประเทศ พระองค์ทรงทำนุบำรุงศาสนา ทรงใกล้ชิดกับพระธรรมคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงคุ้นเคยกับหลักธรรม ได้ทรงนำมาเป็นแนวปฏิบัติ ทรงครองราชย์ด้วยทศพิธราชธรรม ซึ่งเป็นแนวธรรมะทางพุทธศาสนา พระองค์ประจักษ์พระราชหฤทัยว่า หลักธรรมคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นเหตุและผลอันเป็นสัจธรรมแนวทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้พระบาทสมเด็จพรเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพุทธมากะผู้เคร่งครัดปฏิบัติบูชาอย่างสม่ำเสมอ มีพระราชประสงค์ให้ข้าราชการสำนักเป็นผู้ใฝ่ในทางธรรม เพื่อความเจริญของตนและหมู่คณะ ทั้งในหน้าที่การงานและชีวิตส่วนตัว ประเทศไทยจึงเป็นประเทศเดียว ที่ประมุขของประเทศอุปถัมภ์คุ้มครองและให้ความเป็นธรรมแก่ทุกศาสนา


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อส่งเสริมบำรุงพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง เสด็จพระราชดำเนินบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา จัดประกวดการแต่งหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาเนื่องในวันวิสาขบูชา ถวายเทียนเข้าพรรษา เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้ากฐินตามวัดต่าง ๆ โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระพุทธรูปสำคัญ เช่น พระพุทธธนวราชบพิตร พระราชทานเป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัดต่าง ๆ พระพุทธรูปปางประทานพรที่เรียกกันว่า “พระ ภ.ป.ร.” “พระพิมพ์กำลังแผ่นดิน” และ “พระสมเด็จจิตรลดา” เป็นต้นนอกจากนั้น พระองค์ยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ปฏิสังขรณ์บำรุงวัดวาอารามและปูชนียสถานต่าง ๆ ทางศาสนา พระราชทานบรมราชานุเคราะห์แก่สามเณรที่สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค ให้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ และทรงอุปสมบทนาคหลวงทุกปี



นอกจากพระราชกรณียกิจดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีศาสนาที่ประชาชนกราบบังคมทูลเชิญ เช่น ฝังลูกนิมิต ผูกพัทธสีมา ยกช่อฟ้าวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถ เททองหล่อพระประธาน เป็นต้น
ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ศาสนาอื่น ๆ ในราชอาณาจักรโดยทั่วถึงกัน เช่น เสด็จพระราชดำเนินไปร่วมงานของศาสนาต่าง ๆ ตามคำกราบบังคมทูลอัญเชิญ เช่น เสด็จพระราชดำเนินในงานเมาลิดกลางของศาสนาอิสลาม และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในงานฉลองครบรอบ 500 ปี แห่งศาสนาสิกข์ ณ โรงละครแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2512 เป็นต้น


พระราชกรณียกิจที่สำคัญ คือ การเสด็จออกทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม – 5 พฤศจิกายน 2499 ในพระราชพี สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลทรงจรดพระกรรบิด (กรรไกรโบราณที่มีใบมีด ต้องใช้มือหนีบสำหรับตัดผม) ถวายเพื่อเจริญพระเกศาหรือขริบพระเกศา โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์ สุจิตโตภิกขุ เปรียญธรรม 7 ประโยค) วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงเป็นพระราชอุปัชฌาย์, พระศาสนโสภณ (จวน อุฎฐายี) วัดมกุฎกษัตริยาราม เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ สมเด็จพระวันรัตน์ (ปลด กิติโสภณ) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เป็นพระราชอนุศาสนาจารย์


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับถวายพระสมญานามว่า “ภูมิพลโลภิกขุ” ระยะ 15 วัน ที่ทรงอยู่ในสมณเพศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประทับ ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร ได้ทรงบำเพ็ญวัตรปฏิบัติเยี่ยงพระภิกษุทั้งหลาย พระองค์เสด็จออกบิณฑบาตจากประชาชนทั่วไปทุกเช้า การปฏิบัติสังฆกิจต่าง ๆ ทรงปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอยู่ 15 วัน ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมราชินีทรงปฏิบัติพระราชกิจแทนพระองค์ได้อย่างเรียบร้อย เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลาผนวชจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระอภิไธยสมเด็จพระบรมราชินีเป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ”

วันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก



ต่อมาวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นสู่พระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณี ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิน ในพระบรมมหาราชวัง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเศวตพัสตร์ประทับผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก สรงน้ำมูรธาภิเษกเหนือพระอังสา เสร็จแล้วทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ เสด็จประทับเหนือราชอสาสน์บัลลังก?ทอง เฉลิมพระบรมนามาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฎว่า
“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิ
เบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร”



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงครองราชย์ ปกครองพสกนิกรภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระองค์พระราชทานพระปฐมบรมราชการว่า
“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
พระราชพิธีบรมราชภิเษก เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ทรงพระมาลาเส้าสูง ฉลองพระบาทเชิงงอนหนัง ประทับพระที่นั่งราชยานพุดดานทอง เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนราบใหญ่ ตรงไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งภายในพระอุโบสถนั้นมีสมเด็จพระสังฆราช (สุจินตโต ม.ร.ว. ชื่น พนพวงศ์) ต่อมาได้สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ สกลมหาสังฆปรินายก ทรงถวายศีลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งสัตยาธิษฐานที่จะทรงเป็นพุทธมามกะ พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ๘๐ รูปทั่วประเทศ ได้อัญเชิญให้พระองค์ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกทุกศาสนาในประเทศไทย




และในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศ สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ดำรงราชฐานันดรศักดิ์เป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี” พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงคลนพรัตนราวราภรณ์ พร้อมด้วยเครื่องอิสริยราชูปโภคตามฐานันดรศักดิ์
วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2493 ทรงจัดพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร เป็นพิธีจัดต้อนรับการประทับแรมในพระบรมมหาราชวังของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามโบราณราชประเพณีขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินี ต้องประทับแรม ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง 1 ราตรี


วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จ ฯ ออก ณ ท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และวันนั้น ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จออกสีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ประชาชนนับหมื่นที่รอเฝ้าทูลละอองพระบาทถวายพระพรชัย ที่บริเวณสนามชัยด้วยความจงรักภักดีถ้วนหน้ากัน
วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ.2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศกระแสพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมราชวงศ์ตามโบราณราชประเพณี
นอกจากนี้ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง ธูปเงิน เทียนทอง เป็นเครื่องสักการะมอบให้กระทรวงมหาดไทยจัดข้าราชการฝ่ายภูมิภาคไปบูชาพระพุทธเจดียสถานสำคัญของพระราชอาณาจักร เช่น พระพุทธบาท สระบุรี พระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก เป็นต้น

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชทานหีบบุหรี่เงินถมมีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ภ.อ. กับ ส.ก. มีจักรกับตรีศูลอยู่ตรงกลาง แก่ข้าราชการผู้ใหญ่ที่มาร่วมงานพระราชพิธี ฯ ด้วย
ส่วนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ระลึกนั้นจัดทำเป็นเหรียญพระบรมราชาภิเษก ด้านหน้าจารึกอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ด้านหลังจารึกอักษร “บรมราชาภิเษก” วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ประดับแถวริ้วเหลืองสลับขาว มีทั้งชนิดของเงินชุบทอง เงิน และทองแดง พระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และพระสงฆ์ผู้ทรงสมณศักดิ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของปวงชนชาวไทย ได้เสด็จกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้งเพื่อทรงไปรับถวายการรักษาพระวรกายอันเนื่องจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ตามคำแนะนำของคณะแพทย์ที่เคยถวายการรักษา เช่น แพทย์หญิงมาเรียเกรซ ซึ่งเป็นแพทย์ประจำพระองค์ชาวสวิส โดยมีสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ตามเสด็จ ทรงออกเดินทางจากประเทศไทยด้วยเครื่องบินราชพาหนะ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2493


ระหว่างประทับรักษาพระวรกายอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงมีพระสูติกาลพระราชธิดาพระองค์แรก คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ที่โรงพยาบาลมองซัวซีส์ เมืองโลซานน์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน พ.ศ.2494 ตรงเวลาในประเทศไทย วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2494
เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์แรกเจริญพระชันษาได้ 7 เดือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ได้เสด็จนิวัตกลับพระนครอีกคั้งโดยทางชลมารค ด้วยเรือพระที่นั่งซีแลนเดีย ถึงประเทศไทยในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2494 ทรงสเด็จประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ต่อมาทรงย้ายมาประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เพราะระหว่างนั้นมีการซ่อมแซมต่อเติมพระตำหนักจิตรดารโหฐานจากอาคาร 2 ชั้นเป็น 3 ชั้น

เมื่อทั้งสองพระองค์ประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี มีพระประสูติกาลพระราชโอกาสและพระราชธิดาอีก 3 พระองค์ คือ
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าชายวชิราลงกรณ พระบรมจักรยาดิสร สันตติวงศ์ เทเวศร์ธำรงสุบริบาล อภิคุณคุณปการ มหิตลา ดุลยเดชภูมิพล นเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์ สว่างควัฒน์ขัตติราชกุมาร ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาพระราชอิสริยยศเป็น “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร” พระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดา กิติวัฒนาดุลยโสภาคย์ ต่อมาได้รับการสถาปนาพระอิริยยศเป็น “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี” พระราชสมภพ เมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พระราชสมภพเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิตขณะทรงเสด็จ ฯ ไปประทับที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาล เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

จากหนังสือ ในหลวงของปวงไทย โดย โชติ ศรีสุวรรณ

วันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส





พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ซึ่งมีหมายกำหนดการจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-30 มีนาคม พ.ศ.2493 ได้ผ่านไปราวหนึ่งเดือน พระราชพิธีราชาภิเษกสมรสก็ได้กำหนดขึ้นในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2493 ณ วังสระปทุม โดยมีสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเป็นองค์ประธาน
หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร พร้อมด้วยหม่อมเจ้านักขัตรมงคล พระบิดาก็เข้าเฝ้าอยู่ที่นั่น เจ้าหน้าที่ร่วมเป็นสักขีพยานในการจดทะเบียนสมรส มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระชัยนาทนเรนทร และจอมพล ป. พิบูลสงคราม ท่ามกลางพระบรมวงศานุวงศ์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ผู้แทนรัฐบาล ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ฯ ให้เข้าร่วมในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสครั้งนี้






หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เสด็จ ฯ ขึ้นประทับยังห้องพระราชพิธีบนพระตำหนัก เพื่อรับพระราชทานน้ำพระพุทธมนต์และทรงเจิมพระนลาภูจากสมเด็จพระพันวิสสาอัยยิกาเจ้าตามพิธีโบราณราชประเพณีตามเวลาพระฤกษ์ เสร็จแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้อาลักษณ์อ่านสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ แล้วพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จักรีบรมราชวงศ์ ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดแด่สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ และพระราชทานของที่ระลึกเป็นหีบเงินขนาดเล็ก มีพระปรมาภิไธยย่อ ก.อ. และ ส.ก. แก่พระพระยูรญาติและราชสักขี
เมื่องานพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสเสร็จสิ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระราชทานเลี้ยงเป็นการภายในระหว่างพระประยูรญาติ และข้าราชบริพารใกล้ชิดไม่เกิน 20 คน นับเป็นงานฉลองพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสที่เล็กและเรียบง่ายที่สุด

วันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2493 ทั้งสองพระองค์เสด็จฯ ประทับพักผ่อนพระราชอิริยาบถ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วยคณะตามเสด็จทางรถไฟจากสถานีบางกอกน้อยไปสุดทางที่สถานีรถไฟหัวหิน
จากหนังสือ ในหลวงของปวงไทย โดย โชติ ศรีสุวรรณ

วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เสด็จฯ นิวัตกลับประเทศไทยอีกครั้ง



หลังจากทรงหมั้นผ่านไปประมาณ 7 เดือน ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระเชษฐภคินี และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เสด็จนิวัติประเทศไทยทางชลมารค เริ่มจากการเสด็จออกจากพระตำหนักวิลล่าวัฒนา ในนครโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์โดยรถยนต์พระที่นั่ง ไปยังท่าเรือวิลล์ฟรังซ์ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส แล้วเสด็จฯไปประทับบนเรือเดินสมุทรซีแลนเดีย ซึ่งเป็นเรือเดินสมุทรของบริษัทอีสท์เอเชียติก ออกจากฝรั่งเศสผ่านเมืองท่าต่าง ๆ เข้าสู่มหาสมุทรอินเดียทางคลองสุเอช ผ่านประเทศศรีลังกาและสิงคโปร์ เข้าสู่อ่าวไทย จอดเทียบท่าที่เกาะสีชัง จังหวัดตราด เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2493


ต่อจากนั้นทรงเปลี่ยนเรือพระที่นั่งมาประทับบนเรือรบหลวงรัตนโกสินทร์ มุ่งสู่ป้อมพระจุลจอมเกล้า ฯ แล้วเสด็จเพื่อขึ้นประทับบนเรือรบหลวงศรีอยุธยา ณ บนเรือที่ประทับนี้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี รอเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องยศ “จอมพลเรือ” แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้นจึงเสด็จไปประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดาโหฐาน พระราชวังดุสิต
วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2493 ทางรัฐบาลจัดให้มีพิธีสมโภชขึ้น เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัติกลับสู่ประเทศไทย ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในวโรกาสนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาพระพี่นางเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ขึ้นเป็น “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา”
ในปีนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้กำหนดการพระราชพิธีสำคัญ 3 พิธี คือ
พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบรมเชษฐาธิราช พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส และพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกด้วย



วันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร



ระหว่างพระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัวประทับรักษาพระองค์อยู่ที่โรงพยาบาลในตำบลมอร์เซสนั้น หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ได้เข้าเฝ้า ฯ ถวายการพยาบาลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา ทำให้ความสัมพันธ์ที่มีมาแต่เดิมกระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น จนกลายเป็นความรัก
ต่อมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2492 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้านักขัตรมงคลเข้าเฝ้า ฯ ณ วังที่ประทับในนครโลซานน์ แล้วทรงรับสั่งเรื่องการขอหมั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์กับหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร ผู้เป็นพระบิดาก็เห็นด้วย

พระราชพิธีหมั้นได้ถูกจัดขึ้นเป็นการภายใจอย่างเรียบง่าย ณ โรงแรมวินด์เซอร์ ซึ่งเป็นโรงแรมชั้นหนึ่งในนครโลซานส์ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2492 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหมั้นด้วยพระธำมรงค์เพชรหนามเตยรูปหัวใจ ซึ่งเป็นพระธำมรงค์เดียวกับที่สมเด็จพระราชบิดาพระราชทานแด่สมเด็จพระบรมราชชนนีนั่นเอง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หะวโปรดฯ ให้ราชเลขานุการประจำพระองค์ได้ทำหนังสือแจ้งข่าวที่ทรงหมั้นมายังรัฐบาลไทย ซึ่งมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีในเวลานั้น รัฐบาลได้แจ้งประกาศข่าวอันเป็นมงคลนี้ให้พสกนิกรไทยทราบ ยังความปลื้มปีติยินดีแก่เหล่าประชาชนชาวไทยยบังเกิดขึ้นถ้วนทั่วหน้ากัน...
จากหนังสือ ในหลวงของปวงไทย โดย โชติ ศรีสุวรรณ

วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ทรงประสบอุบัติเหตุ

ครั้นแล้วในเดือนตุลาคม พ.ศ.2491 ประชาชนทุกหมู่เหล่าทั่วทั้งประเทศต่างตกใจเมื่อทราบข่าวร้ายอันสะท้อนขวัญยิ่งนัก เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ พระอาการสาหัส โดยรถยนต์พระที่นั่งได้ชนกับรถบรรทุกคันหนึ่ง ใกล้บริเวณริมทะเลสาบเจนีวา เมืองบอนเนย์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเข้ารักษาที่โรงพยาบาลในตำบลมอร์เซส โดยมีนายแพทย์ ดร.มาเลียว เกรกซ์ เป็นผู้ถวายการรักษา นายแพทย์ถวายการเยาวยารักษาบริเวณพระพักตร์และพระเศียรที่ทรงได้รับบาดเจ็บสาหัสอย่างทันท่วงทีจนพระอาการดีขึ้น...แม้จะทรงเสียพระโลหิตมากตอนนำส่งโรงพยาบาล
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบถึงความวิตกกังวลของเหล่าพสกชาวไทย หลังจากข่าวทรงประสบอุบัติเหตุถูกเผยแพร่ออกไปทางสำนักรอยเตอร์ จึงทรงมีพระราชดำรัสจากโรงพยาบาลที่ประทับถึงประชาชนคนไทยให้ทราบว่า
“ฉันปลอดภัยแล้ว ขอฝากความขอบใจมายังคณะผู้สำเร็จราชการคณะรัฐมนตรี คณะรัฐบาล และประชาชนของฉันที่มีความห่วงใยในอาการป่วยของฉัน”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประทับรักษาพระองค์อยู่ที่โรงพยาบาล ประมาณว่า 3 สัปดาห์ นายแพทย์ผู้ถวายการรักษาจะคอยตรวจรักษาพระเนตรข้างขวาเป็นประจำทุกวัน และยังสามารถนำเศษแก้วออกจากพระเนตรจำนวน 2 ชิ้น พระอาการส่วนอื่น ๆ ได้หายเป็นปกติ คงมีพระอาการทางพระเนตรเท่านั้นที่ยังไม่หายเป็นปกติ นายแพทย์ผู้ถวายการรักษาได้อนุญาตให้เสด็จ ฯ กลับไปทรงพักฟื้นที่พระตำหนักวิลล่าวัฒนา (Villa Vadhana) เพื่อรอเวลาที่จะเสด็จ ฯ เข้ารับการผ่าตัดพระเนตรข้างขวางอีกครั้งครั้งถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2491 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯไปประทับที่โรงพยาบาลอีกครั้ง นายแพทย์ถวายการผ่าตัดพระเนตรข้างขวา การผ่าตัดปรากฏเป็นที่น่าพอใจของคณะแพทย์ผู้ถวายการรักษา และพระองค์ได้เสด็จออกจากโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2491 นับจากนั้นพระอาการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดีขึ้นเป็นลำดับจนหายเป็นปกติในเวลาต่อมา ทรงประสบอุบัติเหตุครั้งนี้ทำให้หมายกำหนดการเสด็จนิวัตกลับประเทศไทย ต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด

วันอังคารที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ทรงได้พบหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร



ประเทศในแถบทวีปยุโรปสามารถเชื่อมต่อกันทางถนนรถยนต์ทั่วทุกประเทศ ทำให้การเดินทางสะดวกสบาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขับรถยนต์พระที่นั่ง จากนครโลซานประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ไปยังกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และทรงแวะเสด็จ ฯ ประทับที่สถานทูตไทยประจำประเทศฝรั่งเศส
ในการเสด็จฯ ครั้งนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส พร้อมด้วยครอบครัวเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพบหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาหม่อมเจ้านักขัตรมงคล และหม่อมหลวงบัว กิติยากร ซึ่งมาเข้าเฝ้า ฯ รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครั้งแรก การได้พบกันครั้งนี้ทำให้ครอบครัวของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ทรงคุ้นเคยกัน เพราะหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์มีความสามารถและรักการเล่นดนตรีเช่นเดียวกัน ทำให้เป็นที่ต้องพระราชอัธยาศัยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยิ่งนัก ความสัมพันธ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เริ่มก่อตัวขึ้น ต่อมามีคำสั่งจากรัฐบาลไทยได้ย้ายหม่อมเจ้านักขัตรมงคลไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำสำนักเซนเยมส์ ประเทศอังกฤษ แต่ครอบครัวของหม่อมเจ้านักขัตรมงคลยังคงมีโอกาสได้ทรงต้อนรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบ่อย ๆ
แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทางจากไปไกล แต่ประชาชนชาวไทยเฝ้าฟังข่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจากทางหนังสือพิมพ์ วิทยุ เมื่อทราบข่าวว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสำราญดี เหล่าประชาชนต่างมีความรู้สึกปีติสุข