วันอังคารที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ


เมื่อเช้าวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 ก่อนวันเสด็จพระราชดำเนินจากประเทศไทยอีกครั้ง เพื่อกลับไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพียง 4 วัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลต้องพระแสงปืนเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวังนั่นเอง นับเป็นข่าวร้ายสร้างความเศร้าโศกมาสู่ประชาชนคนไทยทุกหมู่เหล่า แต่ทว่าไม่อาจเทียบได้กับทุกข์ระทมพระทัยอย่างหนักของสมเด็จพระบรมราชชนนี เพราะพระองค์ทรงถนอมถวายพระอภิบาลพระโอรสตามลำพังพระองค์มาแต่ทรงเยาว์วัย และนับเป็นการจากพรากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้เป็นอนุชาจะทรงทนได้ เพราะทั้งสองพระองค์ทรงอยู่ใกล้ชิดสนิทสนมกันมาตลอด เคยร่วมสุขร่วมทุกข์ พลัดพรากจากบ้านเมือง ครั้งทรงเจริญวัยต้องมีเหตุจำพรากจากกัน ในระหว่างความอาดูรแห่งหัวงระทมทุกข์ไปทั่วประเทศ
วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติให้กราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นสืบราชสันตติวงศ์ต่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เป็นกษัตริย์ลำดับที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศวรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ซึ่งตอนนั้นทรงมีพระชนมายุ 18 พรรษา จึงยังไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้ด้วยพระองค์เอง ทางรัฐสภาจึงได้ทำการแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินขึ้น ประกอบด้วย
-พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระชัยนาทนเรนทร (พระองค์เจ้ารังสิต ประยูรศักดิ์)
-พระยามานวราชเสรี เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์
เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ยังทรงมีพระราชภารกิจด้านการศึกษา พระองค์จำต้องทรงอำลาประชาชนชาวไทยเสด็จกลับไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้ง ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2489 ก่อนออกเดินทาง พระองค์ได้เสด็จ ฯ ไปถวายบังคมลาพระบรมศพสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ที่พระบรมมหาราชวัง
ระหว่างทางที่เสด็จ ฯ ไปสนามบินดอนเมือง เพื่อประทับเครื่องบินราชพาหนะนั้น ได้มีพสกนิกรชาวไทยมารอเฝ้าเสด็จ ฯ ด้วยความจงรักภักดีเป็นจำนวนมาก จึงเป็นเหตุการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชนิพนธ์ถึงน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงมีต่อพสกนิกรของพระองค์ ไว้ในบทพระราชนิพนธ์ “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามสู่สวิตเซอร์แลนด์” ความตอนหนึ่งว่า
“วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2489 วันนี้ถึงวันที่เราจะต้องจากไปแล้ว พอถึงเวลาก็ลงจากพระที่นั่งพร้อมกับแม่ ลาเจ้านายฝายใน ณ พระที่นั่งชั้นล่างนั้น แล้วก็ไปยังวัดพระแก้วมรกต ลาพระภิกษุสงฆ์ ลาเจ้านายฝ่ายหน้า ลาข้าราชการทั้งไทยและเทศ และจากไปขึ้นรถยนต์ พอรถแล่นออกไปได้ไม่ถึง 200 เมตร ก็มีหญิงคนหนึ่งมาหยุดรด แล้วส่งกระป๋องให้เราคนละใบ ไม่แน่ใจว่าจะมีอะไรอยู่ในนั้น บางที่จะเป็นลูกระเบิด มาเปิดดูปรากฏว่าเป็นท๊อฟฟี่ที่อร่อยมาก ตามถนนผู้คนช่างมากมายเสียจริง ๆ ที่ถนนราชดำเนินกลางราษฎรเข้ามาจนใกล้ชิดรถพระที่นั่ง กลัวเหลือเกินว่ารถจะไปทับแข้งขาใครเข้าบ้าง รถแล่นฝ่าฝูงชนไปอย่างช้าที่สุด ถึงวัดเบญจมบพิตร รถเล่นเร็วขึ้นได้บ้าง ตามทางที่ผ่านมาได้ยินเสียงใครคนหนึ่งร้องขึ้นดัง ๆ ว่า “อย่าทิ้งประชาชน” อยากจะลงจากรถร้องบอกเขาไปว่า “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนได้อย่างไร” แต่รถวิ่งเร็ว และเลยไปไกลเสียแล้ว เมื่อถึงดอนเมืองเห็นนิสิตมหาวิทยาลัยมาเพื่อส่งให้ถึงที่ ได้รับเครื่องหมายมหาวิทยาลัย 10.50 นาฬิกาแล้ว เหลือเวลาอีกเล็กน้อยสำหรับเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวที่สโมสรนายทหาร ต่อจากนั้นก็เดินฝ่าฝูงคน ซึ่งเฝ้าดูเราอยู่จนวาระสุดท้าย
เมื่อขึ้นมาประทับบนเครื่องบินแล้ว ก็ยังมองเห็นเหล่าราษฎร ได้ยินเสียงไชโยโห่ร้องอวยพร ให้พร แต่เมื่อคนประจำเครื่องบินเริ่มเดินเครื่อง เสียงเครื่องยนต์ก็ดังสนั่นหวั่นไหว กลบเสียงโห่ร้องก้องกังวานของประชานที่ดังอยู่หมด พอถึง 12 นาฬิกา เราก็ออกเดินทางมาบินวนอยู่เหนือพระนครสามรอบ ยังมองเห็นประชาชนแหงนดูเครื่องบินทั่วถนนทุกสายในพระนคร”
ช่วงกลางเดือนสิงหาคม พ.ศ.2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำเป็นต้องจากประเทศไทย และประชาชนของพระองค์ เพื่อเสด็จกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้งหนึ่ง พระองค์ยังต้องทรงศึกษาต่อให้จบ โดยเหตุที่ครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรู้พระองค์ดีว่า จะต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎรให้ร่มเย็นเป็นสุข พระองค์ทรงเปลี่ยนแนวทางการศึกษาเสียใหม่ จากที่เคยศึกษาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ เปลี่ยนมาทรงศึกษาสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ เพื่อเตรียมพระองค์ให้พร้อมความเป็นพระเจ้าแผ่นที่จะเป็นผู้ปกครองที่ดีนั่นเอง...
จากหนังสือ ในหลวงของปวงไทย โดย โชติ ศรีสุวรรณ

วันอังคารที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เสด็จ ฯ นิวัตกลับประเทศไทยครั้งที่ 2


ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2481 หลังจากประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้ 5 ปีกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จนิวัติพระนคร พร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช สมเด็จพระบรมราชชนนี และสมเด็จพระเชษฐภคินี การเสด็จนิวัติครั้งนี้ประทับอยู่นานเพียง 2 เดือนก็เสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อ
การเสด็จนิวัตพระนคร แม้จะมีระยะเวลาไม่ยาวนานนัก ทั้งสองพระองค์ทรงมีโอกาสทอดพระเนตรสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน ภูมิประเทศ ขนบธรรมเนียมประเพณี และศิลปวัฒนธรรมของชาติ เมื่อเสด็จกลับไป ทรงมีความผูกพันกับเมืองไทยและคนไทยมากขึ้น ทางรัฐบาลได้ส่งอาจารย์คนไทยไปถวายพระอักษรไทย ได้ศึกษาภาษาไทย และประวัติศาสตร์ไทยตามพระราชประสงค์
ทุกหนทุกแห่งทั้งในพระนครและต่างจังหวัด ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระอนุชาเสด็จผ่านไป จะมีราษฎรมาเฝ้าชมพระบารมีเป็นจำนวนมาก บางครั้งเสด็จทางรถไฟ ครั้งขบวนรถพระที่นั่งผ่านทรงเห็นการตั้งเครื่องบูชา มีพระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ถวายความจงรักภักดีอย่างกระตือรือร้น พร้อมใจกันมารับเสด็จอย่างบริสุทธิ์ใจของประชาชนทั้งที่ไม่มีใครบังคับกะเกณฑ์ ย้ำให้ทั้งสองพระองค์เชื่อมั่นถึงความจงรักภักดีของประชาชนที่มีต่อพระมหากษัตริย์ ยังคงมั่นคงแน่นแฟ้นอยู่ในใจของประชาชนเสมอหลังเสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ไม่นานก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างสงครามนั้น สมเด็จพระบรมราชชนนีมิได้ทรงอพยพลี้ภัยไปที่อื่น ยังคงประทับอยู่ที่เมืองโลซานน์ ด้วยทรงเป็นห่วงการศึกษาของพระราชโอรส พระราชธิดา ทรงเกรงว่าถ้าแปรพระราชฐานไปประทับที่ประเทศอื่นก็จะขาดการฝึกฝน และทรงเชื่อมั่นว่า ประเทศคู่สงครามคงจะเคารพความเป็นกลางของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่พลอยได้รับผลกระทบของสงคราม เพราะค่าครองชีพสูงขึ้น เครื่องอุปโภคบริโภคขาดแคลน ต่างทรงวางพระองค์มิได้ผิดแผกจากชาวสวิสคนอื่น ๆ เมื่อเสด็จไปมหาวิทยาลัย ทรงรถจักรยาน ไม่ได้ใช้รถพระที่นั่ง ด้วยน้ำมันขาดแคลน สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงใช้ขี้เถ้าแทนสบู่ ทรงทำเนยและเก็บผลไม้ทำแยมไว้เสวย ทรงลำบากเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ แต่สมเด็จพระบรมราชชะนีทรงดูแลพระราชโอรส พระราชธิดา มาได้อย่างปลอดภัย
พ.ศ.2488 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง รัฐบาลไทยได้กราบทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัติพระนครเพื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ เพราะเห็นว่าพระองค์ทรงมีวัยบรรลุนิติภาวะแล้ว นับเป็นการเสด็จกลับมาบำรุงขวัญประชาชน หลังจากต้องผจญศึกสงครามโลกที่ผ่านมาทั้ง 3 พระองค์ พร้อมสมเด็จพระบรมราชชนนี จึงเสด็จกลับประเทศไทยอีกครั้งเมื่อต้นเดือนธันวาคม พ.ศ.2488 คราวนี้ทรงได้เสด็จประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมานในพระบรมมหาราชวัง
ในการเสด็จนิวัตประเทศไทยครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่าง ๆ รวมทั้งเสด็จไปทรงเยี่ยมราษฎรทั้งที่อยู่ในเขตพระนครและจังหวัดใกล้เคียง ทรงเสด็จ ฯ ยังถิ่นพำนักของบรรดาชาวจีนและแขกฮินดูแถวสำเพ็ง ทรงได้ช่วยแก้ปัญหาในการแบ่งแยกชนชาติที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกัน ให้คลี่คลายอย่างมีสมานฉันท์ นำความปลาบปลื้มปีติให้เหล่าพนกนิกรทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารถ้วนหน้ากัน
หลังจากขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้ทรงโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ดำรงพระยศทางทหารเป็น “ร้อยโทสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภุมิพลอดุลยเดช นายทหารพิเศษ” เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2489
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จคราวใด ประชาชนต่างชื่นชมเทิดทูนในพระราชจริยาวัตรและพระรูปโฉมอันสง่างาม อีกทั้งพระอัธยาศัยที่อ่อนโยนไม่ถือพระองค์นั้นเป็นที่ประทับใจเหล่าพสกนิกรที่คอยแห่แหนรับเสด็จทุกหนแห่ง ว่าประชาชนได้ชื่นชมและเป็นสุขในอยู่ไม่ทันนาน ความทุกข์ตรมอันเหล่าพสกนิกรต่างได้รับนั้น ช่างเป็นทุกข์ระทมอย่างแสนสาหัสที่ยากจะลืมได้
จากหนังสือ ในหลวงของปวงไทย โดย โชติ ศรีสุวรรณ

วันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2553

พระบรมราชสมภพ



..........พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จพระมหิดลตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาล) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชสมภพในราชสกุล “มหิดล” อันเป็นเชื้อพระวงศ์สายหนึ่งในพระบรมราชจักรีวงศ์ มีพระบรมราชสมภพ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2470 เวลา 08.45 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือเวลา 20.45 น. ตามเวลาในประเทศไทย ซึ่งตรงกับวันจันทร์ เดือนอ้ายขึ้น 12 ค่ำ ปีเถาะ ณ โรงพยาบาลเมานท์ ออร์เบิร์น เมืองเคมบริดจ์ (Cambridge) รัฐแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts) ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีนายแพทย์ดับบลิว สจ๊วต วิทมอร์ เป็นผู้ถวายการประสูติ ทั้งนี้ เนื่องจากสมเด็จพระบรมราชชนกกำลังทรงศึกษาวิชาการแพทย์ และสมเด็จพระบรมราชชนีทรงศึกษาวิชาการพยาบาลและเศรษฐกิจการเรือนอยู่ในประเทศนั้น


..........ทรงมีพระนามว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช
..........พระนามมีความหมายว่า “พระผู้ทรงพลังอำนาจยิ่งใหญ่ในแผ่นดิน”
..........ภายหลังเมืองนี้ได้สร้างจัตุรัสขึ้นเป็นอนุสรณ์ พระองค์ได้พระราชทานพระปรมาภิไธยตั้งชื่อ “King Bhumipol Adulyadej Square” จัตุรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๓
..........พระองค์ทรงมีพระเชษฐภคินี และพระบรมเชษฐาธิราช คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
จากหนังสือ ในหลวงของปวงไทย ของ โชต ศรีสุวรรณ

พระบรมราชชนกและสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์




สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ 69 จากจำนวน 77 พระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 7 จากจำนวน 8 พระองค์ ในสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี) เมื่อแรกประสูติได้เฉลิมพระนามตามพระสุพรรณบัฎว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช ต่อมาหลังจากพิธีโสกันต์แล้วทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ฯ ให้ดำรงพระยศเป็น “กรมสงขลานครินทร์” และ “กรมหลวงสงขลานครินทร์” ตามลำดับ
เมื่อ พ.ศ.2471 ภายหลังจากสมเด็จพระบรมราชชนกทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการแพทย์จากประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว สมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนีได้พาพระราชโอรสและพระราชธิดาเสด็จนิวัติกลับประเทศไทยครั้งแรก
แต่หลังจากเสด็จนิวัติกลับพระนครได้ไม่ถึงปี สมเด็จพระบรมราชชนกมีพระอาการประชวร และเสด็จสวรรคต เมื่อเดือนกันยายน พ..2472 ซึ่งขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมพรรษาเพียง 1 พรรษา กับอีก 9 เดือนเท่านั้น

จากหนังสือ ในหลวงของปวงไทย โดย โชติ ศรีสุวรรณ

ชีวิตเมื่อทรงพระเยาว์ และการศึกษา


หลังจากพระบรมราชชนกเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเชษฐภคินี และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช จึงตกเป็นพระราชภาระในสมเด็จพระบรมราชชนนีที่จะทรงอภิบาลพระราชโอรสพระราชธิดาทั้ง 3 พระองค์ตามลำพัง พระราชภาระนี้ช่างใหญ่หลวงนัก แต่ด้วยเดชะพระบารมี สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงพระปรีชาสามารอย่างยิ่ง ทรงอภิบาลรักษาพระโอรสและพระธิดาให้ทรงพระเจริญ เพียบพร้อมด้วยพระราชจริยาวัตรสมบูรณ์ด้วยพระสติปัญญาสมพระอิสริยยศ และเป็นความหวังของปวงชนชาวไทยจนกระทั่งบัดนี้
สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงมีพระราชดำริว่า การเลี้ยงดูอบรมเด็กนั้นมีหลักสำคัญอยู่ 2 ประการ คือ เด็กต้องมีพลานามัยสมบูรณ์ประการหนึ่ง และเด็กต้องอยู่ในระเบียบวินัย โดยไม่บังคับเข้มงวดจนเกินไป




สมเด็จพระบรมราชชนนีให้การอภิบาลพระราชโอรสและพระราชธิดาเมื่อยังทรงพระเยาว์ พระองค์ทรงถือตามหลักดังกล่าวนั้น ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่เรื่องพระกระยาหารของพระราชโอกาสและพระธิดา ให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการ ทรงให้เล่นออกกำลังกาย และทรงสั่งสอนให้อยู่ในระเบียบวินัย ซื่อสัตย์ต่อเวลา เนื่องด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนีทรงได้ศึกษาวิชาพยาบาลจากศิริราชพยาบาล และตอนประทับอยู่ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ได้ทรงศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้านอนามัยและโภชนาการ ซึ่งความรู้เหล่านี้ย่อมเป็นประโยชน์ต่อการอภิบาลบำรุงพระราชโอรสและพระราชธิดาได้เป็นอย่างดีเมื่อยังทรงพระเยาว์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ ณ พระตำหนักใหม่วังสระปทุม ถนนพญาไทย พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช และพระเชษฐภคินี จากตำหนักใหม่ที่ประทับมีถนนสู่พระตำหนักใหญ่ที่ประทับของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งเป็นพระตำหนักอยู่ในบริเวณเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินไปเข้าเฝ้า สมเด็จพระอัยยิกาเสมอ ๆ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี พระเชษฐาธิราช และพระเชษฐภคินี ครั้งหนึ่งเมื่อยังทรงพระเยาว์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเล่นสนุกบนรถลากสองล้อจนพลัดตกลงมาเป็นแผล จนสมเด็จพระบรมราชชนนีไม่นำเข้าเสด็จขึ้นเฝ้า ด้วยทรงเกรงว่าสมเด็จพระอัยยิกาจะทรงเป็นห่วงพระราชนัดดานั่นเอง



สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงเห็นว่า การเล่นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็ก จึงทรงสนับสนุนให้พระราชโอรสและพระราชธิดาได้ทรงเล่น เพื่อเป็นการออกกำลังกายพระรวรกายเหมือนธรรมชาติเด็กทั่ว ๆ ไป แม้แต่การเล่นน้ำ เล่นไฟ หรือเล่นดินเล่นทรายที่ผู้ใหญ่ไม่ยอมให้เด็ก ๆ เล่น เพราะเกรงจะเป็นอันตรายหรือกลัวสกปรกเปื้อนเปรอะ แต่สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงอนุญาตให้พระราชโอรส พระราชธิดา ทรงเล่นได้ ท่านทรงควบคุมดูแลด้วยพระองค์เอง โดยให้เล่นในที่ปลอดภัย เล่นในบ่อที่น้ำตื้น ๆ หรือในบริเวณที่ทรงสามารถควบคุมไม่ให้เกิดอันตราย หรือสกปรกเลอะเทอะ ฉะนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงพระเยาว์จึงทรงมีโอกาสได้เล่นสนุกอย่างเด็ก ๆ ทั่วไป ทรงเล่นขุดดิน ทรงเล่นทราย เล่นน้ำ แม้กระทั่งทรงเล่นจุดไฟ... ทั้งยังทรงเล่นขับรถยนต์ด้วย แม้จะเป็นรถยนต์เก่าที่ไม่ใช้แล้ว สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงให้มหาดเล็กยกขึ้นวางบนคานไม้ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวัยพระเยาว์ พร้อมด้วยพระบรมเชษฐาก็ทรงขึ้นไปนั่งทำเหมือนขับรถจริง ๆ แม้ว่าสมเด็จพระบรมราชชนนีจะทรงสนับสนุนให้พระราชโอกาสและพระราชธิดาทรงเล่นตามประสาเด็ก ๆ แต่ทั้งสามพระองค์ก็ทรงอยู่ในระเบียบวินัย ต้องทรงปฏิบัติตามเวลา ไม่ใช่เถลไถลไปทำโน่นทำนี่ และต้องทรงตรงต่อเวลาอีกด้วย



เมื่อครั้งประทับอยู่พระตำหนักใหม่ ในวังสระปทุม จะตีฆ้องบอกสัญญาณให้รู้ว่า ถึงเวลาเสวยพระกระยาหารกลางวันแล้ว บางครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมเชษฐาทรงเล่นเพลิดเพลิน ไม่ทรงเลิก สมเด็จพระบรมราชชนนีจะทรงให้เล่นต่อไป แต่ครั้งถึงเวลาบรรทมตอนบ่ายพระองค์จะทรงตามให้เสด็จมาชำระพระหัตถ์ให้สะอาด แล้วให้เสด็จขึ้นแท่นบรรทมโดยไม่ทรงอนุญาตให้เสวยพระกระยาหาร จนกว่าจะถึงเวลาเสวยนมตอนบ่ายสีโมงเย็น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมเชษฐาธิราช และพระเชษฐภคินี ต่างทรงถูกฝึกฝนความมีระเบียบวินัยมาแต่ทรงพระเยาว์ สมเด็จพระอัยยิกาก็ทรงสนับสนุนให้พระราชนัดดาอยู่ในระเบียบวินัย วันหนึ่งพระราชนัดดามาเฝ้า ฯ ที่โต๊ะเสวย ทอดพระเนตรเห็นอาหารหลากหลายชนิด ทรงชี้พระหัตถ์ว่า
“นี่น่าอร่อย นี่ก็น่าอร่อย” สมเด็จพระอัยยิกาใคร่จะประทานครั้งนึกได้“ไม่ได้...ไม่ได้ แม่เขาจะว่า” จึงทรงให้คนห่อแบ่งเอาไปถวายที่พระตำหนักใหม่ให้เสวยเมื่อถึงเวลาที่จะเสวย



เรื่องการอบรมเด็กให้มีระเบียบวินัย ครั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา และทรงมีครอบครัวของพระองค์เอง ก็ทรงนำมาเป็นหลักปฏิบัติในการอบรมพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระองค์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล่าว่า เมื่อทรงพระเยาว์พระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์ต้องทรงปฏิบัติตามตารางเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงวางไว้ให้ปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด เช่น
“เช้าต้องดูหนังสือ กินข้าว แล้วเดินไปโรงเรียน ตอบบ่ายกลับมาขึ้นเฝ้า ฯ ให้ท่านเห็นหน้าเห็นตา บ่ายสองสามโมงออกอากาศ (เดินเล่น) ห้าโมงขึ้นมากินข้าวเย็น ทุ่มหนึ่งก็เข้านอน”
ในพระบรมราโชวาทพระราชทานแก่เยาวชนของชาติ เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ 8 มกราคม พ.ศ.2526 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชี้ถึงความสำคัญของการมีระเบียบวินัยดังนี้
“เด็ก ๆ ต้องฝึกหัดอบรมทั้งกายทั้งใจให้เข้มแข็ง เป็นระเบียบและสุจริต เพื่อประโยชน์ของตนในภายหน้า เพราะคนที่ไม่เข้มแข็งไม่สามารถควบคุมกายใจให้อยู่ในระเบียบและความดี ยากนักที่จะได้ประสบความสำเร็จ และความเจริญอย่างแท้จริงในชีวิต”เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมายุ 5 พรรษา ได้เข้ารับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนมาแตร์เดอี ถนนเพลินจิต กรุงเทพมหานคร




หลังจากนั้นไม่นาน ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 สถานการณ์การเมืองที่ผันแปร ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้น เป็นผลให้สถานภาพของพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการบางกลุ่มต้องออกจากราชการ เจ้านายหลายพระองค์ต้องเสด็จออกจากประเทศไทยไปพำนักอยู่ในประเทศต่างแดน เมื่อความขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 กับรัฐบาลของนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้า “คณะราษฎร” มากยิ่งขึ้น จนไม่อาจจะประนีประนอมได้ ความยุ่งยากทางการเมืองก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงต่อพระชนม์ชีพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมเชษฐาธิราช แบะพระเชษฐภคินี
ดังนั้น ในราวต้นปี พ.ศ.2476 สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พาพระโอรสและพระธิดาเสด็จไปประทับที่เมืองโลซานน์ (Lausanne) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติในเดือนมีนาคม พ.ศ.2477 และทรงสละพระราชสิทธิในการแต่งตั้งผู้สืบราชสมบัติด้วย รัฐบาลจึงได้อัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นครองราชย์ เพราะทรงอยู่ในลำดับที่หนึ่ง แห่งการสืบราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาล พุทธศักราช 2467 ซึ่งตอนนั้นพระบรมเชษฐามีพระชนมายุ 9 พรรษาเท่านั้น


หลังจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเสด็จขึ้นครองราชย์ การดำรงพระชนม์ชีพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระเชษฐภคินี คงใช้ชีวิตที่สงบเรียบง่าย ทั้ง 3 พระองค์ยังประทับและทรงศึกษาอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ต่อไป แต่ในครั้งนั้นได้ทรงย้ายไปประทับ ณ พระตำหนักวิลล่าวัฒนา ที่เมืองพุลลี่ (Pully) ใกล้กับทะเลสาบเลอมัง ซึ่งกว้างขวางกว่าพระตำหนักหลังเดิม เพื่อความเหมาะสมกับพระราชสถานะใหม่ที่ทรงได้รับ ซึ่งสถาปนาขึ้นเป็น “สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช” เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.247ต่อมาในปี พ.ศ.2478 พระบาทสมเด็นพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมเชษฐาธิราช ย้ายจากโรงเรียนเมียร์มองต์ (Miremont) ที่ทรงศึกษาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน และภาษาอังกฤษ มาทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนแห่งใหม่ชื่อโรงเรียนนูเวลล์ ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนเอกชนที่รับนักเรียนนานาชาติ ทรงเรียนจนสอบไล่ได้ชั้นมัธยมปลาย และทรงได้รับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์ ทรงเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยโลซานน์ (Lausanne University) โดยทรงเลือกศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์แขนงวิศวกรรมศาสตร์ ตอนแรกทรงเป็นนักศึกษาไป-กลับ จนสองปีสุดท้ายจึงทรงเป็นนักศึกษาประจำ เพื่อต้องการทรงทราบชีวิตนักศึกษาประจำ ที่ต้องทำอะไรด้วยตัวเองทุกอย่าง

ตลอดเวลาที่ประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลทรงอบรมเลี้ยงดูพระราชโอรสและพระราชธิดาให้ดำรงชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายเยี่ยงสามัญชน ทรงสอนให้รู้จักประหยัดรู้คุณค่าของเงิน และมิให้ทรงรังเกียจงานสุจริตทุกประเภท
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชทรงใกล้ชิดสนิทสนมกันมากเพราะพระชนมพรรษาห่างกันเพียง 2 พรรษาเท่านั้น ทั้งสองพระองค์ทรงโปรดของหลายสิ่งคล้ายกัน แม้แต่การทรงฉลองพระองค์พระองค์มักจะทรงเลือกแบบเดียวกัน ทรงโปรดเรื่องเรือรบและเครื่องบินเหมือนกัน ทรงรวบรวมสมุดภาพเรือรบและเรือจำลงไว้หลายลำ เมื่อพระชนมพรรษามากขึ้นก็ทรงโปรดดนตรี และทรงเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่าเหมือนกัน
แม้ขณะนั้นจะทรงเป็น “เจ้าฟ้า” แล้ว แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ยังทรงรับเงินใช้ส่วนตัวไม่มากนัก เงินที่ทรงรับพอจะซื้อช็อกโกแลตหรือหนังสือ และของใช้เล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น สมเด็จพระบรมราชชะนีทรงสอนให้รู้จักประหยัดอดออมเงิน ให้ทรงรู้จักเก็บเงินฝากธนาคาร ทรงชอบทำและประดิษฐ์ของเล่นเอง สมเด็จพระบรมราชชนนีไม่ใคร่จะทรงซื้อให้บ่อยครั้งนัก เว้นแต่ช่วงวันปีใหม่ และวันพระราชสมภพ โดยมากจะเป็นของชิ้นโต ๆ ที่พระราชโอรส พระราชธิดาทูลขอล่วงหน้า
สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงสนับสนุนไห้ทรงทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ เช่น ทรงต่อเรือลำเล็ก ๆ พระองค์และสมเด็จพระบรมเชษฐา ทรงช่วยกันเปิดตำราที่สอนการประกอบวิทยุ ทรงต่อวิทยุตามตำราจนสำเร็จใช้การได้ ทรงคิดสร้างแบบและทรงต่อเรือใบเล็กด้วยพระองค์เองในระหว่างปี พ.ศ.2509-2510 พระราชทานชื่อว่า เรือมด, เรือซูเปอร์มด และเรือไมโครมดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติตามพุทธภาษิตเกี่ยวกับการประดิษฐ์ของใช้เองว่า ภตฺเต ผู้ทำเองย่อมรื่นรมย์
จากหนังสือ ในหลวงของปวงไทย โดย โชติ ศรีสุวรรณ