วันอังคารที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เสด็จ ฯ นิวัตกลับประเทศไทยครั้งที่ 2


ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2481 หลังจากประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้ 5 ปีกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จนิวัติพระนคร พร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช สมเด็จพระบรมราชชนนี และสมเด็จพระเชษฐภคินี การเสด็จนิวัติครั้งนี้ประทับอยู่นานเพียง 2 เดือนก็เสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อ
การเสด็จนิวัตพระนคร แม้จะมีระยะเวลาไม่ยาวนานนัก ทั้งสองพระองค์ทรงมีโอกาสทอดพระเนตรสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน ภูมิประเทศ ขนบธรรมเนียมประเพณี และศิลปวัฒนธรรมของชาติ เมื่อเสด็จกลับไป ทรงมีความผูกพันกับเมืองไทยและคนไทยมากขึ้น ทางรัฐบาลได้ส่งอาจารย์คนไทยไปถวายพระอักษรไทย ได้ศึกษาภาษาไทย และประวัติศาสตร์ไทยตามพระราชประสงค์
ทุกหนทุกแห่งทั้งในพระนครและต่างจังหวัด ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระอนุชาเสด็จผ่านไป จะมีราษฎรมาเฝ้าชมพระบารมีเป็นจำนวนมาก บางครั้งเสด็จทางรถไฟ ครั้งขบวนรถพระที่นั่งผ่านทรงเห็นการตั้งเครื่องบูชา มีพระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ถวายความจงรักภักดีอย่างกระตือรือร้น พร้อมใจกันมารับเสด็จอย่างบริสุทธิ์ใจของประชาชนทั้งที่ไม่มีใครบังคับกะเกณฑ์ ย้ำให้ทั้งสองพระองค์เชื่อมั่นถึงความจงรักภักดีของประชาชนที่มีต่อพระมหากษัตริย์ ยังคงมั่นคงแน่นแฟ้นอยู่ในใจของประชาชนเสมอหลังเสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ไม่นานก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างสงครามนั้น สมเด็จพระบรมราชชนนีมิได้ทรงอพยพลี้ภัยไปที่อื่น ยังคงประทับอยู่ที่เมืองโลซานน์ ด้วยทรงเป็นห่วงการศึกษาของพระราชโอรส พระราชธิดา ทรงเกรงว่าถ้าแปรพระราชฐานไปประทับที่ประเทศอื่นก็จะขาดการฝึกฝน และทรงเชื่อมั่นว่า ประเทศคู่สงครามคงจะเคารพความเป็นกลางของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่พลอยได้รับผลกระทบของสงคราม เพราะค่าครองชีพสูงขึ้น เครื่องอุปโภคบริโภคขาดแคลน ต่างทรงวางพระองค์มิได้ผิดแผกจากชาวสวิสคนอื่น ๆ เมื่อเสด็จไปมหาวิทยาลัย ทรงรถจักรยาน ไม่ได้ใช้รถพระที่นั่ง ด้วยน้ำมันขาดแคลน สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงใช้ขี้เถ้าแทนสบู่ ทรงทำเนยและเก็บผลไม้ทำแยมไว้เสวย ทรงลำบากเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ แต่สมเด็จพระบรมราชชะนีทรงดูแลพระราชโอรส พระราชธิดา มาได้อย่างปลอดภัย
พ.ศ.2488 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง รัฐบาลไทยได้กราบทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัติพระนครเพื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ เพราะเห็นว่าพระองค์ทรงมีวัยบรรลุนิติภาวะแล้ว นับเป็นการเสด็จกลับมาบำรุงขวัญประชาชน หลังจากต้องผจญศึกสงครามโลกที่ผ่านมาทั้ง 3 พระองค์ พร้อมสมเด็จพระบรมราชชนนี จึงเสด็จกลับประเทศไทยอีกครั้งเมื่อต้นเดือนธันวาคม พ.ศ.2488 คราวนี้ทรงได้เสด็จประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมานในพระบรมมหาราชวัง
ในการเสด็จนิวัตประเทศไทยครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่าง ๆ รวมทั้งเสด็จไปทรงเยี่ยมราษฎรทั้งที่อยู่ในเขตพระนครและจังหวัดใกล้เคียง ทรงเสด็จ ฯ ยังถิ่นพำนักของบรรดาชาวจีนและแขกฮินดูแถวสำเพ็ง ทรงได้ช่วยแก้ปัญหาในการแบ่งแยกชนชาติที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกัน ให้คลี่คลายอย่างมีสมานฉันท์ นำความปลาบปลื้มปีติให้เหล่าพนกนิกรทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารถ้วนหน้ากัน
หลังจากขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้ทรงโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ดำรงพระยศทางทหารเป็น “ร้อยโทสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภุมิพลอดุลยเดช นายทหารพิเศษ” เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2489
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จคราวใด ประชาชนต่างชื่นชมเทิดทูนในพระราชจริยาวัตรและพระรูปโฉมอันสง่างาม อีกทั้งพระอัธยาศัยที่อ่อนโยนไม่ถือพระองค์นั้นเป็นที่ประทับใจเหล่าพสกนิกรที่คอยแห่แหนรับเสด็จทุกหนแห่ง ว่าประชาชนได้ชื่นชมและเป็นสุขในอยู่ไม่ทันนาน ความทุกข์ตรมอันเหล่าพสกนิกรต่างได้รับนั้น ช่างเป็นทุกข์ระทมอย่างแสนสาหัสที่ยากจะลืมได้
จากหนังสือ ในหลวงของปวงไทย โดย โชติ ศรีสุวรรณ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น