วันอังคารที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ


เมื่อเช้าวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 ก่อนวันเสด็จพระราชดำเนินจากประเทศไทยอีกครั้ง เพื่อกลับไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพียง 4 วัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลต้องพระแสงปืนเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวังนั่นเอง นับเป็นข่าวร้ายสร้างความเศร้าโศกมาสู่ประชาชนคนไทยทุกหมู่เหล่า แต่ทว่าไม่อาจเทียบได้กับทุกข์ระทมพระทัยอย่างหนักของสมเด็จพระบรมราชชนนี เพราะพระองค์ทรงถนอมถวายพระอภิบาลพระโอรสตามลำพังพระองค์มาแต่ทรงเยาว์วัย และนับเป็นการจากพรากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้เป็นอนุชาจะทรงทนได้ เพราะทั้งสองพระองค์ทรงอยู่ใกล้ชิดสนิทสนมกันมาตลอด เคยร่วมสุขร่วมทุกข์ พลัดพรากจากบ้านเมือง ครั้งทรงเจริญวัยต้องมีเหตุจำพรากจากกัน ในระหว่างความอาดูรแห่งหัวงระทมทุกข์ไปทั่วประเทศ
วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติให้กราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นสืบราชสันตติวงศ์ต่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เป็นกษัตริย์ลำดับที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศวรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ซึ่งตอนนั้นทรงมีพระชนมายุ 18 พรรษา จึงยังไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้ด้วยพระองค์เอง ทางรัฐสภาจึงได้ทำการแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินขึ้น ประกอบด้วย
-พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระชัยนาทนเรนทร (พระองค์เจ้ารังสิต ประยูรศักดิ์)
-พระยามานวราชเสรี เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์
เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ยังทรงมีพระราชภารกิจด้านการศึกษา พระองค์จำต้องทรงอำลาประชาชนชาวไทยเสด็จกลับไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้ง ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2489 ก่อนออกเดินทาง พระองค์ได้เสด็จ ฯ ไปถวายบังคมลาพระบรมศพสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ที่พระบรมมหาราชวัง
ระหว่างทางที่เสด็จ ฯ ไปสนามบินดอนเมือง เพื่อประทับเครื่องบินราชพาหนะนั้น ได้มีพสกนิกรชาวไทยมารอเฝ้าเสด็จ ฯ ด้วยความจงรักภักดีเป็นจำนวนมาก จึงเป็นเหตุการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชนิพนธ์ถึงน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงมีต่อพสกนิกรของพระองค์ ไว้ในบทพระราชนิพนธ์ “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามสู่สวิตเซอร์แลนด์” ความตอนหนึ่งว่า
“วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2489 วันนี้ถึงวันที่เราจะต้องจากไปแล้ว พอถึงเวลาก็ลงจากพระที่นั่งพร้อมกับแม่ ลาเจ้านายฝายใน ณ พระที่นั่งชั้นล่างนั้น แล้วก็ไปยังวัดพระแก้วมรกต ลาพระภิกษุสงฆ์ ลาเจ้านายฝ่ายหน้า ลาข้าราชการทั้งไทยและเทศ และจากไปขึ้นรถยนต์ พอรถแล่นออกไปได้ไม่ถึง 200 เมตร ก็มีหญิงคนหนึ่งมาหยุดรด แล้วส่งกระป๋องให้เราคนละใบ ไม่แน่ใจว่าจะมีอะไรอยู่ในนั้น บางที่จะเป็นลูกระเบิด มาเปิดดูปรากฏว่าเป็นท๊อฟฟี่ที่อร่อยมาก ตามถนนผู้คนช่างมากมายเสียจริง ๆ ที่ถนนราชดำเนินกลางราษฎรเข้ามาจนใกล้ชิดรถพระที่นั่ง กลัวเหลือเกินว่ารถจะไปทับแข้งขาใครเข้าบ้าง รถแล่นฝ่าฝูงชนไปอย่างช้าที่สุด ถึงวัดเบญจมบพิตร รถเล่นเร็วขึ้นได้บ้าง ตามทางที่ผ่านมาได้ยินเสียงใครคนหนึ่งร้องขึ้นดัง ๆ ว่า “อย่าทิ้งประชาชน” อยากจะลงจากรถร้องบอกเขาไปว่า “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนได้อย่างไร” แต่รถวิ่งเร็ว และเลยไปไกลเสียแล้ว เมื่อถึงดอนเมืองเห็นนิสิตมหาวิทยาลัยมาเพื่อส่งให้ถึงที่ ได้รับเครื่องหมายมหาวิทยาลัย 10.50 นาฬิกาแล้ว เหลือเวลาอีกเล็กน้อยสำหรับเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวที่สโมสรนายทหาร ต่อจากนั้นก็เดินฝ่าฝูงคน ซึ่งเฝ้าดูเราอยู่จนวาระสุดท้าย
เมื่อขึ้นมาประทับบนเครื่องบินแล้ว ก็ยังมองเห็นเหล่าราษฎร ได้ยินเสียงไชโยโห่ร้องอวยพร ให้พร แต่เมื่อคนประจำเครื่องบินเริ่มเดินเครื่อง เสียงเครื่องยนต์ก็ดังสนั่นหวั่นไหว กลบเสียงโห่ร้องก้องกังวานของประชานที่ดังอยู่หมด พอถึง 12 นาฬิกา เราก็ออกเดินทางมาบินวนอยู่เหนือพระนครสามรอบ ยังมองเห็นประชาชนแหงนดูเครื่องบินทั่วถนนทุกสายในพระนคร”
ช่วงกลางเดือนสิงหาคม พ.ศ.2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำเป็นต้องจากประเทศไทย และประชาชนของพระองค์ เพื่อเสด็จกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้งหนึ่ง พระองค์ยังต้องทรงศึกษาต่อให้จบ โดยเหตุที่ครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรู้พระองค์ดีว่า จะต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎรให้ร่มเย็นเป็นสุข พระองค์ทรงเปลี่ยนแนวทางการศึกษาเสียใหม่ จากที่เคยศึกษาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ เปลี่ยนมาทรงศึกษาสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ เพื่อเตรียมพระองค์ให้พร้อมความเป็นพระเจ้าแผ่นที่จะเป็นผู้ปกครองที่ดีนั่นเอง...
จากหนังสือ ในหลวงของปวงไทย โดย โชติ ศรีสุวรรณ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น