วันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส





พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ซึ่งมีหมายกำหนดการจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-30 มีนาคม พ.ศ.2493 ได้ผ่านไปราวหนึ่งเดือน พระราชพิธีราชาภิเษกสมรสก็ได้กำหนดขึ้นในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2493 ณ วังสระปทุม โดยมีสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเป็นองค์ประธาน
หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร พร้อมด้วยหม่อมเจ้านักขัตรมงคล พระบิดาก็เข้าเฝ้าอยู่ที่นั่น เจ้าหน้าที่ร่วมเป็นสักขีพยานในการจดทะเบียนสมรส มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระชัยนาทนเรนทร และจอมพล ป. พิบูลสงคราม ท่ามกลางพระบรมวงศานุวงศ์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ผู้แทนรัฐบาล ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ฯ ให้เข้าร่วมในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสครั้งนี้






หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เสด็จ ฯ ขึ้นประทับยังห้องพระราชพิธีบนพระตำหนัก เพื่อรับพระราชทานน้ำพระพุทธมนต์และทรงเจิมพระนลาภูจากสมเด็จพระพันวิสสาอัยยิกาเจ้าตามพิธีโบราณราชประเพณีตามเวลาพระฤกษ์ เสร็จแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้อาลักษณ์อ่านสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ แล้วพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จักรีบรมราชวงศ์ ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดแด่สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ และพระราชทานของที่ระลึกเป็นหีบเงินขนาดเล็ก มีพระปรมาภิไธยย่อ ก.อ. และ ส.ก. แก่พระพระยูรญาติและราชสักขี
เมื่องานพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสเสร็จสิ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระราชทานเลี้ยงเป็นการภายในระหว่างพระประยูรญาติ และข้าราชบริพารใกล้ชิดไม่เกิน 20 คน นับเป็นงานฉลองพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสที่เล็กและเรียบง่ายที่สุด

วันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2493 ทั้งสองพระองค์เสด็จฯ ประทับพักผ่อนพระราชอิริยาบถ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วยคณะตามเสด็จทางรถไฟจากสถานีบางกอกน้อยไปสุดทางที่สถานีรถไฟหัวหิน
จากหนังสือ ในหลวงของปวงไทย โดย โชติ ศรีสุวรรณ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น