วันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก



ต่อมาวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นสู่พระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณี ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิน ในพระบรมมหาราชวัง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเศวตพัสตร์ประทับผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก สรงน้ำมูรธาภิเษกเหนือพระอังสา เสร็จแล้วทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ เสด็จประทับเหนือราชอสาสน์บัลลังก?ทอง เฉลิมพระบรมนามาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฎว่า
“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิ
เบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร”



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงครองราชย์ ปกครองพสกนิกรภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระองค์พระราชทานพระปฐมบรมราชการว่า
“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
พระราชพิธีบรมราชภิเษก เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ทรงพระมาลาเส้าสูง ฉลองพระบาทเชิงงอนหนัง ประทับพระที่นั่งราชยานพุดดานทอง เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนราบใหญ่ ตรงไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งภายในพระอุโบสถนั้นมีสมเด็จพระสังฆราช (สุจินตโต ม.ร.ว. ชื่น พนพวงศ์) ต่อมาได้สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ สกลมหาสังฆปรินายก ทรงถวายศีลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งสัตยาธิษฐานที่จะทรงเป็นพุทธมามกะ พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ๘๐ รูปทั่วประเทศ ได้อัญเชิญให้พระองค์ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกทุกศาสนาในประเทศไทย




และในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศ สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ดำรงราชฐานันดรศักดิ์เป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี” พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงคลนพรัตนราวราภรณ์ พร้อมด้วยเครื่องอิสริยราชูปโภคตามฐานันดรศักดิ์
วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2493 ทรงจัดพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร เป็นพิธีจัดต้อนรับการประทับแรมในพระบรมมหาราชวังของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามโบราณราชประเพณีขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินี ต้องประทับแรม ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง 1 ราตรี


วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จ ฯ ออก ณ ท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และวันนั้น ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จออกสีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ประชาชนนับหมื่นที่รอเฝ้าทูลละอองพระบาทถวายพระพรชัย ที่บริเวณสนามชัยด้วยความจงรักภักดีถ้วนหน้ากัน
วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ.2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศกระแสพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมราชวงศ์ตามโบราณราชประเพณี
นอกจากนี้ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง ธูปเงิน เทียนทอง เป็นเครื่องสักการะมอบให้กระทรวงมหาดไทยจัดข้าราชการฝ่ายภูมิภาคไปบูชาพระพุทธเจดียสถานสำคัญของพระราชอาณาจักร เช่น พระพุทธบาท สระบุรี พระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก เป็นต้น

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชทานหีบบุหรี่เงินถมมีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ภ.อ. กับ ส.ก. มีจักรกับตรีศูลอยู่ตรงกลาง แก่ข้าราชการผู้ใหญ่ที่มาร่วมงานพระราชพิธี ฯ ด้วย
ส่วนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ระลึกนั้นจัดทำเป็นเหรียญพระบรมราชาภิเษก ด้านหน้าจารึกอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ด้านหลังจารึกอักษร “บรมราชาภิเษก” วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ประดับแถวริ้วเหลืองสลับขาว มีทั้งชนิดของเงินชุบทอง เงิน และทองแดง พระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และพระสงฆ์ผู้ทรงสมณศักดิ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของปวงชนชาวไทย ได้เสด็จกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้งเพื่อทรงไปรับถวายการรักษาพระวรกายอันเนื่องจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ตามคำแนะนำของคณะแพทย์ที่เคยถวายการรักษา เช่น แพทย์หญิงมาเรียเกรซ ซึ่งเป็นแพทย์ประจำพระองค์ชาวสวิส โดยมีสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ตามเสด็จ ทรงออกเดินทางจากประเทศไทยด้วยเครื่องบินราชพาหนะ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2493


ระหว่างประทับรักษาพระวรกายอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงมีพระสูติกาลพระราชธิดาพระองค์แรก คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ที่โรงพยาบาลมองซัวซีส์ เมืองโลซานน์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน พ.ศ.2494 ตรงเวลาในประเทศไทย วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2494
เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์แรกเจริญพระชันษาได้ 7 เดือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ได้เสด็จนิวัตกลับพระนครอีกคั้งโดยทางชลมารค ด้วยเรือพระที่นั่งซีแลนเดีย ถึงประเทศไทยในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2494 ทรงสเด็จประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ต่อมาทรงย้ายมาประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เพราะระหว่างนั้นมีการซ่อมแซมต่อเติมพระตำหนักจิตรดารโหฐานจากอาคาร 2 ชั้นเป็น 3 ชั้น

เมื่อทั้งสองพระองค์ประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี มีพระประสูติกาลพระราชโอกาสและพระราชธิดาอีก 3 พระองค์ คือ
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าชายวชิราลงกรณ พระบรมจักรยาดิสร สันตติวงศ์ เทเวศร์ธำรงสุบริบาล อภิคุณคุณปการ มหิตลา ดุลยเดชภูมิพล นเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์ สว่างควัฒน์ขัตติราชกุมาร ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาพระราชอิสริยยศเป็น “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร” พระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดา กิติวัฒนาดุลยโสภาคย์ ต่อมาได้รับการสถาปนาพระอิริยยศเป็น “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี” พระราชสมภพ เมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พระราชสมภพเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิตขณะทรงเสด็จ ฯ ไปประทับที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาล เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

จากหนังสือ ในหลวงของปวงไทย โดย โชติ ศรีสุวรรณ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น